ยาลดไข้แก้ปวดที่ใช้บ่อยที่สุด
ยาพาราเซตามอลเป็นยาลดไข้แก้ปวดที่ใช้ได้ผลดี ราคาถูก ปลอดภัย เป็นยาที่หมอสั่งใช้กับคนไข้ทั่วไป (รวมทั้งกับตัวหมอเอง) ข้อสำคัญต้องระวังอย่ากินเกินขนาด ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
ข้อควรรู้ ยาพาราเซตามอล
ชื่อสามัญ พาราเซตามอล (paracetamol)
ชื่อการค้า (ยี่ห้อ) พาราเซตามอล , เซตามอล , คาลพอล , ดากา , เทมพรา , ไทลีนอล , ไบโอเจสิก , พานาดอลล , พาราซิน , ซารา , อะเซตาซิล ฯลฯ
ประเภทยา
– ชนิดน้ำเชื่อม ๑๒o มิลลิกรัมต่อช้อนชา (๕ มิลลิลิตร) บรรจุขวดขนาด ๖o มิลลิลิตร
– ชนิดเม็ด ๓๒๕ มิลลิกรัม และ ๕oo มิลลิกรัม
สรรพคุณ
๑. ลดไข้ บรรเทาอาการตัวร้อนจากสาเหตุต่างๆ
๒. แก้ปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดหู ปวดตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดประจำเดือน ปวดแผล ฯลฯ
– สำหรับอาการปวดศีรษะจากไมเกรน ควรกินยานี้ทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกปวด หากปล่อยให้มีอาการเกิน ๑/๒ ชั่วโมง แล้วค่อยกินยาบรรเทาปวดจะไม่ได้ผล
– สำหรับอาการปวดข้อจากโรคข้อเสื่อม (เช่น ปวดเข่า ปวดสะโพก ปวดกระดูกสันหลังในผู้สูงอายุ) ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ควรให้กินยาพาราบรรเทาปวดเป็นครั้งคราวจะปลอดภัยกว่าการกินยาแก้ข้ออักเสบติดต่อกัน เพราะอาจทำให้เป็นโรคกระเพาะ หรือเลือดออกในกระเพาะได้
– สำหรับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ควรให้ยาพาราบรรเทาอาการตัวร้อน ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ ๒-๔ วัน หากเกิน ๔ วันแล้วไข้ยังไม่บรรเทา ควรปรึกษาแพทย์ อาจมีโรคแทรกซ้อน หรือเป็นไข้จากสาเหตุอื่น
ขนาดและวิธีใช้ กินเวลามีอาการ ถ้ายังมีอาการกำเริบ ให้กินซ้ำได้ทุก ๖ ชั่วโมง โดยใช้ขนาดดังนี้
เด็ก ให้กินชนิดน้ำเชื่อม (๑๒o มิลลิกรัมต่อช้อนชา)
– อายุต่ำกว่า ๑ ปี ครั้งละ ๑/๒ ช้อนชา
– ๑-๔ ปี ๑ ช้อนชา
– ๔-๗ ปี ๑ ๑/๒ ช้อนชา
– ๗-๑๒ ปี ๑ ๑/๒ – ๒ ช้อนชา (หรือเม็ดขนาด ๓๒๕ มิลลิกรัม ๑ เม็ด หรือเม็ดขนาด ๕oo มิลลิกรัม ๑/๒ เม็ด)
ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๑-๒ เม็ด (ขนาด ๕oo มิลลิกรัม) โดยทั่วไปใช้เพียง ๑ เม็ดก็ได้ผล ยกเว้นในรายที่ไข้สูงหรือน้ำหนักตัวมาก อาจต้องใช้ ๒ เม็ด
ข้อควรระวัง
ที่สำคัญคือ ยานี้เป็นพิษต่อตับถ้ากินในขนาดมากๆ เช่น ผู้ใหญ่ครั้งละ ๗-๑o กรัม (๑๔-๒o เม็ด) ทำให้ตับไม่ทำงานเฉียบพลัน เป็นอันตรายถึงตายได้
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ในเด็กไม่ควรใช้เกินวันละ ๑,๒oo มิลลิกรัม (๑o ช้อนชา) ผู้ใหญ่ไม่ควรกินวันละ ๔ กรัม (๘ เม็ด)
ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือผู้ป่วยเป็นโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
ถ้าพบว่ามีการใช้ยานี้ขนาดมากเกินไป ควรรีบทำให้อาเจียน เช่น ใช้นิ้วล้วงเข้าไปเขี่ยที่ผนังลำคอ แล้วรีบพาส่งโรงพยาบาลทันที แพทย์จะทำการล้างท้องและให้ยาต้ายพิษ เพื่อป้องกันมิให้ตับถูกทำลาย
หมายเหตุ
๑. ยานี้ไม่กัดกระเพาะ สามารถกินขณะท้องว่างได้ ไม่จำเป็นต้องกินหลังอาหาร
๒. อาการแพ้ที่เกิดจากพาราพบได้น้อยมาก นับว่าใช้ได้ปลอดภัยกว่ายาลดไข้แก้ปวดชนิดอื่นๆ
ขอขอบคุณที่มา : รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ