การสร้างพระบารมีของพระพุทธเจ้ามีมากน้อยต่างกัน บางองค์ ๑๖ อสงไขย ๘ อสงไขย ๔ อสงไขย อย่างน้อย ๔ อสงไขย นับไม่ได้ ๔ หน นับไม่ได้ ๑๖ หน นับไม่ได้ ๘ หน เรียกว่าอสงไขยๆ แล้วก็แสนมหากัปๆ เศษด้วยกันทั้งนั้น นี่กว่าจะเต็มสมบูรณ์ความเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าน้ำกว่าจะเต็มตุ่มเต็มถังนี้ก็ ๑๖ อสงไขย กว่าจะเต็มตุ่ม ตุ่มใหญ่ ตุ่มแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า บรรจุอรรถธรรมไว้อยู่นั้นหมด พุทธวิสัยความสามารถของพระพุทธเจ้าอยู่นั้นหมด ไม่มีใครมีความสามารถเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะเวลาสร้างก็สร้างเอาหนักเอาหนา ฟังซิว่า ๔ อสงไขยนับไม่ได้ถึง ๔ หน ถ้าเราเทียบอย่างทุกวันนี้ก็เรียกว่า ๔ ล้านแล้วอีกแสนมหากัป คำว่ากัปหนึ่งนี้นานแสนนานนะ จึงเรียกว่าหนึ่งกัปอีกด้วยนะ แสนมหากัปอีกด้วย นั่นมากไหม ๔ อสงไขยแล้วยังแสนมหากัปอีก มากขนาดไหน กัปหนึ่งนี้นานแสนนานกว่าจะนับเป็นกัปหนึ่งได้ กัปหนึ่งกัลป์หนึ่ง
นี่ละพระพุทธจ้าแต่ละพระองค์ๆ ทรงพยายามอุตส่าห์ทุกสิ่งทุกอย่าง คอก็ตัดขาดไปได้เลยเพื่อสร้างพระบารมี ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความเสียดาย คิดดูอย่างพระพุทธเจ้าของเราชาติสุดท้ายที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้านี้ก็ทานกัณหา – ชาลี ใครล่ะทานได้ ทานแล้วพราหมณ์เอาไปเฆี่ยนตีต่อหน้าต่อตาอยู่นั่น ถ้าธรรมดาแล้วพราหมณ์นั้นคอขาดเลย ตีลูกให้เห็นต่อหน้าต่อตาของเจ้าของทานจะทนได้ยังไงคนเรามีกิเลส ฉวยได้ดาบก็ตัดคอพราหมณ์ ไม่ได้กัณหา – ชาลีไปเลยละ กัณหา – ชาลีก็ต้องกลับคืนมา เพราะพราหมณ์นั้นคอขาดแล้ว เนื่องจากมาเฆี่ยนต่อหน้าตีต่อหน้าต่อตาของเจ้าของทาน อับดับที่สองอีกก็ทานพระนางมัทรี พระนางมัทรีคือพระชายาคู่พึ่งเป็นพึ่งตายเหมือนเงาเทียมตัว
ชายาๆ แปลว่าผู้เกิดพร้อมกัน พระนางมัทรีนี้เกิดพร้อมกันกับพระพุทธเจ้า นี่ละคู่พึ่งเป็นพึ่งตาย พระองค์ก็สละให้ทานได้ ทีนี้ในชาติพระเวสสันดรการให้ทานก็ไม่มีใครเป็นคู่แข่งทาน จนกระทั่งชาวบ้านชาวเมืองเขาไม่พออกพอใจ ขับไล่ไสส่งพระองค์หนีจากเมือง ขับออกจากความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เข้าอยู่ในป่าเขาวงกต พระองค์ก็ยอมไปเขาให้ไปก็ไป เรื่องของชาวบ้านชาวเมืองเขาไม่พอใจเพราะการให้ทาน เอาช้างมงคลนั่นแหละทานแล้วเขาไม่พอใจ จึงขับไล่พระองค์ไปอยู่เขาคิรีวงกตโน่น พระองค์ก็ยอมไป แต่เรื่องนิสัยของพระโพธิสัตว์จะสร้างบารมีนั้นไม่ยอมถอย ไปในป่าไม่มีอะไรทานก็ยกกัณหา – ชาลีทาน ยกพระนางมัทรีทาน นั่นฟังซิ
นี่ละวิสัยของพระโพธิสัตว์ไม่มีคำว่าถอย โลกเขาไม่ยินดีเขาขับไปไหนก็ไป แต่เรื่องพระอัธยาศัยหรือนิสัยของพระโพธิสัตว์นั้นไม่ยอมปล่อยวางเลย เพราะนักทาน คำว่าโพธิสัตว์คือผู้ที่จะตรัสรู้ข้างหน้า แปลออกแล้วเป็นอย่างนั้น เป็นผู้ที่มีความเมตตาสงสารมากมาโดยลำดับลำดา ไปอยู่ในฝูงสัตว์ก็ให้อภัยแก่สัตว์ เจ้าของยอมตายแทนสัตว์ได้ เป็นหัวหน้าสัตว์ เจ้าของยอมตายทีเดียวๆ อยู่กับสัตว์ เอ้า สัตว์อดให้พระองค์อดเสียก่อนให้สัตว์อิ่ม พวกบริษัทบริวารอิ่มท้อง พระโพธิสัตว์ถึงจะอิ่มทีหลัง