โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ Atopic dermatitis เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่มีอาการผื่นคันเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ พบได้บ่อยในเด็กตั้งแต่วัยทารก 3 เดือนขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยบางส่วนจะมีอาการดีขึ้นเมื่อโตขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีผื่นคันเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือ เริ่มมีอาการของโรคภูมิแพ้ระบบอื่นๆ เช่น ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้เยื่อบุตาตามมา
สาเหตุและปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรค
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบมีปัจจัยทางพันธุกรรม การมีภูมิคุ้มกันไวเกิน มีการสร้างความชุ่มชื้นที่ผิวหนังตามธรรมชาติลดลง การได้รับสารก่อภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม หรือจากอาหารบางชนิด เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าหากพ่อหรือแม่ หรือ พี่น้องท้องเดียวกันเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หอบหืด ภูมิแพ้จมูก ภูมิแพ้เยื่อบุตา ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้
อาการของโรค
ผื่นผิวหนังอักเสบของโรคนี้จะมีลักษณะเฉพาะในผู้ป่วยแต่ละวัย และจะมีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ เมื่อรักษาจนดีขึ้นก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้
1.วัยทารก จะเริ่มมีผื่นเห็นได้ชัดที่อายุ 4-5 เดือน ผื่นมีสีแดง ขอบเขตไม่ชัด ผิวหนังสาก มีขุยบางครั้งมีน้ำแฉะเยิ้มบนผื่น จากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน มักพบ มีผิวแห้ง คันมากจนรบกวนการนอนพบผื่นได้ที่ใบหน้า ลำตัว แขนขา ข้อมือ ข้อเท้าและที่หนังศีรษะ
2.วัยเด็กหลังอายุ 2 ปี จะพบมีผื่นคล้ายในวัยทารกได้ แต่จะมีอาการเด่นชัดที่บริเวณข้อพับ เช่น ข้อพับแขน ข้อพับขา รอบข้อมือ ใต้ก้น รอบลำคอ หนังตาบน หลังใบหู ข้อศอก หัวเข่า หัวนม บางครั้งเกามากเรื้อรังจนมีผิวหนังหนาตัวเป็นเส้น แห้ง สาก
3.วันรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เป็นผื่นได้ทั่วไป เช่น ตามแขน ขา ลำตัว รอบคอ ในรายที่อาการรุนแรง จะพบมีผื่นเป็นบริเวณกว้างได้ มักมีผิวหนังแห้ง คันมาก ผู้ป่วยบางรายจะมีผื่นผิวหนังอักเสบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าร่วมด้วยได้
การดูแลรักษา
1.แพทย์จะให้คำแนะนำ อธิบายการดำเนินโรคดังกล่าวข้างต้นและให้แนวทางการดูแลรักษา
2.ดูแลผิวหนังให้มีความชุ่มชื้น เพื่อบรรเทาอาการผิวแห้ง ลดอาการคัน ไม่อาบน้ำที่ร้อนเกินไป ให้อาบน้ำอุ่น หรือ น้ำธรรมดาวันละ 1-2 ครั้ง โดยใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่อ่อนโยนไม่มีฟองหรือมีฟองน้อยไม่แต่งกลิ่นแต่งสี ใช้เวลาอาบน้ำ ไม่เกิน 5-10 นาทีและภายหลังเช็ดตัวภายใน 3-5 นาที ให้ทาสารที่ให้ความชุ่มชื้นในรูปครีมหรือโลชั่นที่ไม่แต่งสีและกลิ่นทาทั่วทั้งตัวและใบหน้า หากใช้น้ำมันทาให้ระวังการเกิดผลได้โดยเฉพาะเด็กเล็กหรืออาจเกิดสิวในวัยรุ่น
3.การทายาต้านการอักเสบของผื่น ได้แก่ยาทาสเตียรอยด์หรือยาที่ไม่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ควรใช้ยาทาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ให้ทายาบางๆบริเวณผื่นแดง มีขุย สากและคัน วันละ 2 ครั้ง จนผื่นหายสนิท ไม่สากหรือแดง โดยให้ทายาหลังทาสารให้ความชุ่มชื่นแก้ผิวหนังแล้ว ควรมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้แพทย์ประเมินการเพิ่มหรือลดความแรงของยาทาตามสภาพของผื่น ไม่ควรซื้อยาใช้เอง
การรักษาอื่นๆ ได้แก่ การฉายแสดงแดดเทียม การใช้ยารับประทานกดภูมิคุ้มกัน เฉพาะในรายการที่มีอาการรุนแรง โดยจะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณา
4.การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ผื่นกำเริบ ได้แก่อาหารอาจมีส่วนให้ผื่นกำเริบในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น เช่น การแพ้โปรตีนนมวัว ไข่ขาว ไข่แดง แป้งสาลี ถั่วสิสง ถั่วเหลือง อาหารทะเล เป็นต้น การงดอาหารบางชนิดการเปลี่ยนชนิดของนม หรือการตรวจหรือทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ให้ปรึกษาแพทย์ ในเด็กโต สารก่อภูมิแพ้ที่สูดเข้าสู่ทางเดินหายใจ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร หรือ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เหงื่อ ความเครียด ก็มีส่วนทำให้ผื่นกำเริบได้ แนะนำไม่ใช้เสื้อผ้าที่เป็นขนสัตว์หรือมีเนื้อผ้าหยาบหนา เช่น ผ้ายีนส์
5.การบรรเทาอาการคัน แพทย์จะให้รับประทานยาบรรเทาอาการประเภทยาแก้แพ้ การเกาจะยิ่งกระตุ้นให้ผื่นกำเริบและมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ แพทย์จะสอนวิธีการประคบเปียกบริเวณผื่น หากคันมาก
6.รักษาความสะอาดของร่างกาย ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ งดการเกา หลังออกกำลังกายที่มีเหงื่อออกมากหรือหลังว่ายน้ำควรอาบน้ำและทาสารให้ความชุ่มชื่นทันที
7.ในระยะโรคสงบ การทาสารให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวหนังทั่วร่างกายเป็นประจำสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผิวหนังช่วยป้องกันเชื้อโรค สารก่อภูมิแพ้และลดการเห่อของผื่น
การป้องกันเมื่อยังไม่เป็นโรค
ในปัจจุบันยังไม่พบวิธีป้องกันการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ ผิวหนังที่มีประสิทธิภาพและยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแนะนำให้ทารกดื่มนมมารดาแทนการเลี้ยงด้วยนมผง ควรดูแลผิวหนังให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะทารกกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติโรค ภูมิแพ้ในครอบครัว แนะนำใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นสำหรับทารก ที่ไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่นและไม่มีสารทำให้เกิดฟองมาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.ปาจรีย์ ฑิตธิวงษ์
กุมารแพทย์ หน่วยผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า